บทความกฎหมาย
เมื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต / บัตรกดเงินสด
และถูกฟ้องคดี
คำถามที่พบบ่อย
o คดีบัตรเครดิต / บัตรกดเงินสด มีอายุความกี่ปี
o อายุความ เริ่มนับจากเมื่อไหร่ ถึงเมื่อไหร่
o คดีขาดอายุความแล้ว ทำไมโจทก์ถึงนำคดีมาฟ้องได้
o ถ้าลูกหนี้ หรือจำเลยไม่ไปศาล ศาลจะพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีทันทีเลยได้ไหม
o จำเป็นต้องจ้างทนายความสู้คดีหรือไม่ สู้แล้วจะคุ้มไหม
คดีบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้หรือธนาคารออกเงินทดรองให้กับลูกหนี้หรือสมาชิกไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บแก่สมาชิกภายหลัง กฎหมายกำหนด อายุความ 2 ปี ปพพ.193/34 (7 ) อายุความ 2 ปี เริ่มนับจากวันที่เจ้าหนี้สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ คือ เมื่อลูกหนี้ใช้บัตรครั้งสุดท้าย และผิดนัดไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน เจ้าหนี้สามาถใช้สิทธิเรียกร้องได้ทันที (โดยไม่ต้องบอกกล่าว เพราะเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาให้ชำระหนี้แน่นอนแล้ว)
โดยส่วนใหญ่คดีบัตรเครดิต เจ้าหนี้ไม่ค่อยรีบฟ้อง หลายๆ ครั้ง จึงพบว่าหนี้ที่เจ้าหนี้เอามาฟ้องลูกหนี้นั้น ขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้สามารถนำคดีมาฟ้องได้ไหม คำตอบคือฟ้องได้ แต่ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ต้องต่อสู้เรื่องหนี้ขาดอายุความต่อศาล
ถ้าจำเลยไม่ไปศาล ศาลจะพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีหรือยกฟ้องเพราะ “หนี้ขาดอายุความ” เลยทันทีไม่ได้ (แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็จริง แต่ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน) ถือว่าจำเลยไม่ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีเอง ดังนั้น จำเลยที่ได้รับหมายศาลแล้วเห็นว่าหนี้ที่ถูกฟ้องขาดอายุความแล้ว จึงต้องแต่งตั้งทนายยื่นคำให้การต่อสู้คดี
ศึกษาได้เพิ่มเติมจากตัวอย่างฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2547
ประเด็น: บัตรเครดิตมีอายุความเท่าไหร่
จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 และชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตได้กำหนดให้จำเลย ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 *** แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ (ธนาคาร) ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ทั้งหมดทันที อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป
จำเลยที่ 2 ใช้บัตรเสริมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2540 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ทันที อายุความสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเริ่มนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป
โจทก์ (ธนาคาร) มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยออกบัตรให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตร โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป จึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)
ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน ศาลจึงพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540
ประเด็น: บัตรเครดิตที่สามารถกดเงินสดมีอายุความเท่าไหร่
อายุความฟ้องหนี้บัตรเครดิตมีกำหนด 2 ปี เพราะไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมเงินสำหรับหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิต โดยสมาชิกสามารถนำบัตรเครดิตที่ธนาคารอกใช้ไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่ร้านค้า เมื่อร้านค้าหรือสถานบริการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือค่าบิการจากการใช้บัตรเครดิต ธนาคารจะเป็นผู้ชำระเงินแทนไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินภายหลังจากสมาชิก มีลักษณะเป็นการทำกิจการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าวด้วย ซึ่งธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการในการเบิกเงินสดล่วงหน้าด้วย ธนาคารจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกการที่ธนาคารได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อน หรือให้สมาชิกเบิกเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทกได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์ จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา
193/34 (7) (.6226/2548,10262/2550)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2550
ประเด็น: บัตรเครดิตที่สามารถกดเงินสดมีอายุความเท่าไหร่
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์ทำสัญญาให้สินเชื่อแก่จำเลยโดยให้จำเลยสมัครเป็นสมาชิก โจทก์เป็นผู้กำหนดวงเงินสินเชื่อซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของโจทก์ โจทก์ออกบัตรเครดิตพร้อมกำหนดรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อสามารถนำไปถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ได้ตามความต้องการของจำเลยภายใต้วงเงินที่โจทก์กำหนดให้ สัญญาดังกล่าวมีกำหนดเวลา 1 ปี โดยโจทก์คิดค่าธรรมเนียมจากจำเลยปีละ 500 บาท หากมีการต่อสัญญาออกไปจำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราเดียวกันทุกปี การใช้สินเชื่อดังกล่าวจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 26 ต่อปี และต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่โจทก์ออกใบแจ้งยอดบัญชีส่งให้จำเลยในแต่ละเดือน
แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้ความว่าจำเลยสามารถนำบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ดังกล่าวไปซื้อสินค้าหรือบริการแทนเงินสดได้โดยตรงก็ตาม แต่ลักษณะที่โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยในการถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้ตามความต้องการของจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้ควบคุมวงเงินที่จำเลยจะเบิกถอนได้ และคิดค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการดังกล่าวเป็นรายปีจากการที่จำเลยสมัครเป็นสมาชิกของโจทก์เพื่อใช้บริการสินเชื่อในลักษณะนี้ จึงมีลักษณะที่โจทก์ทดรองจ่ายเงินสดให้แก่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเพื่อให้จำเลยสามารถเบิกเงินสดได้ตามเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการของจำเลยเองเช่นกัน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ ให้สมาชิก การที่โจทก์ให้สมาชิกนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
จำเลยใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 และต้องชำระเงินให้โจทก์ภายในวันที่ 7 เมษายน 2542 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงตั้งต้นนับแต่นั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2545 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความองทราบก่อนใช้บริการด้านกฎหมายและนักสืบ
|